Saturday, October 25, 2008

พลเมืองอเมริกันกับวีซ่าเข้าประเทศไทย


พลเมืองอเมริกันกับวีซ่าเข้าประเทศไทย
ไพสันติ์ พรหมน้อย

เมื่อประมาณกลางปี 2550 ผมได้รับข่าวจากเพื่อนผู้แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันและกลับไปปักหลักที่เมืองไทยว่า คนไทยผู้ถือพาสปอร์ตอเมริกัน เมื่อกลับเข้าไปอยู่ในประเทศไทยแล้วไม่รายงานตัวจะถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)ปรับ ผม จึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งกงสุลใหญ่จักร บุญ-หลง ให้ทราบ ท่านก็สั่งให้กงสุลที่รับผิดชอบตรวจสอบรายละเอียด เพราะการอนุญาตให้อยู่ในเมืองไทยเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้า เมืองหรือที่เราเรียกว่าอิมมิเกรชั่น

ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 สถานกงสุลใหญ่แอล.เอ.ออกหนังสือ ที่ 17 /2550 แจ้งให้ทราบเรื่อง บุคคลสัญชาติไทยถือหนังสือเดินทางสหรัฐฯ เข้าประเทศไทย มีใจความดังนี้

ด้วย สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับแจ้งจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่าคนต่างด้าวที่เคยถือสัญชาติไทยและ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยได้รับยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว 30 วัน สามารถยื่นขออยู่ต่อในราชอาณาจักรได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อขอรับการตรวจลงตราประเภทใดประเภทหนึ่งก่อนแต่อย่างใด

ส่วนการรายงานตัว ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อ 1 ปี ก็จะเข้าข่ายมาตรา 37 ข้อ (5) ของ พรบ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (http://www.immigration.go.th/nov2004/doc/act_imm_2522.html ) ที่ระบุว่า คนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน จะต้องมีหนังสือแจ้งให้ จนท.ตม. ทราบที่อยู่ที่ตนพักอาศัยทุก 90 วัน ไม่มีการยกเว้นสำหรับคนที่มีสัญชาติไทย

ผมจึงอยากนำมาขยายความเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนไทยทุกท่านที่แปลงสัญชาติและถือพาสปอร์ตอเมริกันรวมทั้งคนอเมริกันที่ต้องการไปเที่ยวประเทศไทยด้วย

ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ทั้งที่แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันแล้ว คนที่อยู่ถูกกฎหมายด้วยการถือใบเขียว,บุคคลเดินทางมาศึกษาต่อ,เดินทางมาจาก ประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพเช่นพนักงานบริษัทอเมริกัน,เจ้าหน้าที่วิสาหกิจ ของไทยและข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆที่ประจำอยู่ในสหรัฐ

นอกจากนี้ยังมีคนไทยกลุ่มใหญ่ที่อยู่อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือที่เราเรียกว่าโรบินฮู้ด คนไทยในกลุ่มนี้น่าจะมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว

บทความนี้เขียนถึงพลเมืองอเมริกันที่จะเดินทางไปเมืองไทย ไม่ว่าจะไปเที่ยว ไปทำงานหรือไปปลดเกษียณที่ประเทศไทยก็ตาม คำว่าพลเมืองอเมริกันอาจเกิดได้ 2 กรณีคือ 1.ได้มาด้วยการเกิดในสหรัฐหรือเกิดนอกสหรัฐหากมีพ่อหรือเป็นแม่เป็นคนอเมริกัน 2.ได้มาด้วยการแปลงสัญชาติ หลังจากถือใบเขียวครบกำหนด 3 หรือ 5 ปีตามเงื่อนไขที่กฎหมายคนเข้าเมืองกำหนด

ผมมองว่าคนไทยที่แปลงสัญชาติเป็นอเมริกันไปแล้วมีจำนวนไม่น้อยอยากกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย หรือเป็นพวกที่ปลดเกษียณแล้ว บุคคลเหล่านี้นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น ผมจึงมอง 2 ด้าน

ด้านแรก เป็นการกลับสู่มาติภูมิแผ่นดินเกิดหลังจากมาแบกจ๊อบในแผ่นดินอื่น ประสบการณ์ของพวกเขาจะมีส่วนส่งเสริมสังคมไทยในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้ไม่น้อยทีเดียว

ด้านที่สอง บุคคลเหล่านี้จะนำเงินตราต่างประเทศเข้าไปหมุนเวียนในประเทศไทยได้มหาศาล เงินที่จะนำเข้าไปเกิดขึ้นได้หลายทาง

ทางแรกเมื่อพวกเขาขายบ้านหรือธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ครั้นกลับไปอยู่เมืองไทยส่วนใหญ่จะซื้อบ้านหลังใหม่ให้ดูดีสมกับเป็นคนที่กลับจากอเมริกา เงินจำนวนนี้จะเข้าไปหมุนเวียนในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยสรุปก็เข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทย

ทาง ที่สองคนเกษียณอาจอายุ 62 ปี,65 ปีหรือ 67 ปี(ในอนาคต) คนกลุ่มนี้จะมีเงินได้ 2 ทางกล่าวคือหากเป็นคนทำงานบริษัท,วิสาหกิจหรือหน่วยงานภาครัฐ จะมีเงินได้แบบสะสมจากบริษัท บางคนอาจได้เดือนละ 1,000 ดอลลาร์ ทางที่สองมาจากเงินประกันสังคม (Social Security) ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานบวกกับเงินที่เขาสะสมไว้ คนที่มีรายได้มากก็ถูกหักไว้มาก

เมื่อนำ 2 รายได้มารวมกันแล้วบางรายอาจมีเงินช่วงปลดเกษียณเดือนละ 2,000-3,000 ดอลลาร์ สมมติว่ามีคนไทยที่แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันกลับเข้าไปอยู่ในประเทศไทยเฉลี่ย 20,000 คน คิดรายได้คนละ 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือน ประเทศไทยจะมีเงินเข้าประเทศเดือนละ 20 ล้านดอลลาร์ คิดอัตราแลกเปลี่ยน 34 บาทต่อดอลลาร์ก็จะเป็นเงินหมุนเวียนเดือนละ 680 ล้านบาท

รัฐบาลไทยต้องคิดให้ดี คิดว่าจะชุกจูงคนไทยในต่างประเทศกลับไปปลดเกษียณที่ประเทศไทยได้อย่างไร

หันมาดูเรื่องพลเมืองอเมริกันที่จะเข้าไปประเทศไทย(โดยไม่ได้มีสัญชาติไทยมาก่อน) ไม่ว่าจะถือพาสปอร์ตทูต,เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพาสปอร์ตธรรมดาเพื่อการท่องเที่ยว เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยและอยู่ไม่เกิน 30 วันไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า ทั้งนี้จะต้องแสดงตั๋วโดยสารขากลับด้วย อย่างไรก็ตามสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยอาจจะยืดเวลาให้อยู่ได้อีก 10 วัน หากมีการยื่นขอ

หากผู้ถือพาสปอร์ตอเมริกันต้องการอยู่เกิน 30 วัน ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องไปขอวีซ่าจากสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยที่ใกล้ตัว ซึ่งวีซ่าประเภทท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยได้ 60 วัน แต่เมื่อเดินทางไปอยู่ในประเทศไทยแล้ววีซ่าท่องเที่ยวจะขอต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ในครั้งแรกเจ้าหน้าที่อาจจะอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยต่อได้อีก 30 วัน พร้อมค่าธรรมเนียม 1,900 บาท

การต่อวีซ่าไปกระทำที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ กทม.

โทร.02-287-3111 นอกจากนี้ยังมีสำนักงานย่อยที่ตั้งอยู่ในหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ใน กรณีที่คนอเมริกันต้องการอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 90 วันก็จะต้องติดต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในสหรัฐให้เรียบร้อยเพื่อ จะได้ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของประเทศไทย เพราะหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยอาจปฏิเสธไม่อนุญาตให้เข้าประเทศก็ได้เช่นกัน

วีซ่าทำงาน(the work visa)

คนต่างชาติที่ต้องการไปทำงานในประเทศไทยจะต้องมีวีซ่าทำงาน ก่อนจะได้วีซ่าประเภทนี้จะต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงาน(a work permit)ซึ่งบริษัทในต่างประเทศ,บริษัทในประเทศไทย,รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรอื่นใดจะต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยให้ เมื่อได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วจึงจะได้วีซ่าทำงาน (the work visa) ซึ่งมีอายุ 1 ปี

วีซ่าเกษียณอายุ(Retirement Visas)

คนต่างชาติที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปต้องการไปใช้ชีวิตในประเทศไทย สามารถขอวีซ่าเกษียณอายุได้ วีซ่าประเภทนี้มีอายุคราวละ 1 ปี โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติต่างๆของผู้ต้องการวีซ่าประเภทนี้ไว้ดังนี้

ผู้ยื่นขอจะต้องเป็นคนต่างชาติอาศัยอยู่ในเมืองไทย

ผู้ยื่นขอจะต้องไม่ทำงานในประเทศไทย

ผู้ยื่นขอจะต้องแสดงหลักฐานว่าเป็นผู้รับเงินบำนาญและมีรายได้ประจำจากแหล่งเงินนอกประเทศไทย

ผู้ยื่นขอจะต้องมีรายได้จากเงินบำนาญเมื่อเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยแล้วจะต้องมีไม่น้อยกว่า 65,000 บาท (ประมาณ 2,000 ดอลลาร์ในอัตราแลกเปลี่ยน 34 บาทต่อดอลลาร์ก็จะตกเดือนละ 68,000 บาท)

นอกจากนี้ผู้ยื่นขอจะต้องมีบัญชีเงินฝากในธนาคารไทยที่ประเทศไทยอย่างน้อย 800,000 บาท

(ผู้ยื่นขอวีซ่าจะต้องแสดงบัญชีว่ามีเงินฝากไม่น้อยกว่า 8 แสนบาททุกปีที่ยื่นขอต่อวีซ่า)

หากบุคคลผู้นั้นมีคู่สมรสเป็นคนไทยจะต้องแสดงเช่นกันว่ามีบัญชีเงินฝาก 800,000 บาทรวมทั้งพิสูจน์ว่ามีรายได้จากเงินบำนาญเดือนละ 65,000 บาท

วีซ่าอยู่เกินกำหนด (Visa Overstays)

ในกรณีที่บุคคลต่างชาติไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศเมื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศหมดอายุ (วันประทับตราวีซ่าที่แอร์พอร์ต)ถือว่าบุคคลผู้นั้นอยู่อย่างผิดกฎหมาย เมื่อจะเดินทางออกนอกประเทศต้องเสียค่าปรับฐานอยู่เกินกำหนด(overstay fine)วันละ 500 บาท ค่าปรับสูงสุด 20,000 บาท สามารถเสียค่าปรับได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)ที่จะเดินทางออกเช่นที่สนามบินเป็นต้น

โปรดจำไว้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยมักจะกวาดล้างนักท่องเที่ยวแบบซำเหมา(low-budget travelers) เป็นประจำเพราะละเมิดวีซ่าเข้าเมือง จากนั้นจะถูกนำไปจำขังที่สถานกักกันของสตม.จนกระทั่งบุคคลผู้นั้นจ่ายค่า ปรับและมีค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางออกจากประเทศไทยได้ บุคคลที่อยู่เกินกำหนดกว่า 200 วันแล้วถูกจับได้จะถูกจำขังที่สถานกักกันของสตม.เพื่อรอการเนรเทศ (ในอนาคตจะไม่ได้วีซ่ากลับเข้าประเทศไทยได้อีก)

การขอต่ออายุวีซ่าขอให้กระทำล่วงหน้าหรืออย่างช้า 1 วันหลังวีซ่าหมดอายุ(next working day) เพื่อป้องกันการถูกปรับ กรณีวีซ่าหมดอายุวันเสาร์,วันอาทิตย์หรือวันหยุดราชการจะต้องไปต่ออายุ เมื่อเริ่มวันทำงานถัดไปของสำนักงานสตม.

หนังสือเดินทาง(Passports)

หนังสือเดินทางอเมริกันอาจจะออกได้เต็มรูปแบบหรือออกได้แบบจำกัด(Full and limited validity passports)จะออกให้โดยสำนักงานบริการพลเมืองอเมริกัน ( the American Citizens Services Unit)ในประเทศไทยพลเมืองอเมริกันจะต้องไปยื่นขอพาสปอร์ตที่สถานทูตอเมริกัน ถนนวิทยุ

รายละเอียดต่างๆหาดูได้จากเว็บไซท์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเกี่ยวกับการยื่น

ขอหนังสือเดินทางอเมริกัน

เมื่อ พลเมืองอเมริกันเดินทางออกนอกประเทศ ขอแนะนำให้ถ่ายเอกสารสำเนาพาสปอร์ตไว้ด้วยซึ่งมีหมายเลขหนังสือเดินทาง,รูป ถ่ายของผู้ถือและรายละเอียดอื่นๆและแยกไว้ต่างหากจากพาสปอร์ต กรณีที่พาสปอร์ตสูญหายหรือถูกขโมย จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถออกพาสปอร์ตแบบฉุกเฉินให้ได้ทันท่วงที

การยื่นขอพาสปอร์ตอเมริกัน พลเมืองอเมริกันจะต้องพิสูจน์ดังนี้

1.การพิสูจน์ว่าเป็นพลเมืองอเมริกันโดยให้นำเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งแนบไปแสดงด้วย

- พาสปอร์ตอเมริกันเล่มที่เคยออกให้

- ใบเกิดของพลเมืองอเมริกัน (ใช้ใบจริงหรือหากเป็นสำเนาถ่ายเอกสารจะต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐผู้ดูแลเอกสารใบเกิด)

- ใบประกาศว่าได้มีการแปลงสัญชาติ(Certificate of Naturalization)

- ใบรายงานของเจ้าหน้าที่กงสุลอเมริกันในต่างประเทศกรณีที่พลเมืองอเมริกันเกิดในต่างประเทศ

2.การพิสูจน์เอกลักษณะบุคคล(Proof of Identity )ให้นำอย่างใดอย่างหนึ่งไปแสดงดังนี้

- พาสปอร์ตอเมริกันเล่มเดิมที่ออกให้

-ใบประกาศว่าได้มีการแปลงสัญชาติ

- เอกสารอื่นใดที่ออกให้โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น,เจ้าหน้าที่มลรัฐหรือรัฐบาลกลาง (อาทิเช่นใบขับขี่)

3. ภาพถ่าย ต้องการ 2 ภาพขนาด 2 คูณ 2 นิ้ว (โดยมีใบหน้าในภาพขนาด 1 และ 1 3/8 นิ้ว) เป็นสีหรือขาวดำก็ได้ ภาพจะต้องชัดเจน,ถ่ายด้านหน้า,เต็มหน้าและภาพต้องโฟคัส ด้านหลังจะต้องเป็นสีขาว ให้พิมพ์ชื่อและนามสกุลของเจ้าของภาพไว้ด้านหลังภาพด้วย

ขั้นตอนการปฏิบัติ(Procedure)

1.ต้องกรอกแบบฟอร์มยื่นขอพาสปอร์ตให้ละเอียด (ฟอร์ม DS-11 หรือ DS-82 ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบุคคล)

ในกรณีที่ต้องยื่นแบบฟอร์ม DS-82

-ท่านมีพาสปอร์ที่ออกมาแล้วภายใต้ชื่อของท่านใน 15 ปีที่ผ่านมา

-สามารถยื่นพาสปอร์ตเล่มล่าสุดไปพร้อมกับแบบฟอร์ม

-อายุอย่างน้อย 16 ปีขึ้นไปเมื่อพาสปอร์ตเล่มล่าสุดได้ออกให้

-ในกรณีที่เปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล จะต้องยื่นเอกสารการเปลี่ยนชื่อไปด้วย

-หากยื่นขอพาสปอร์ตแทนเล่มเดิมที่ถูกขโมย,สูญหายหรือฉีกขาดจะต้องใช้แบบฟอร์ม DS-11

2.ยื่นแบบฟอร์มพร้อมเอกสารต่อสำนักงาน the American Citizen Services Office ระหว่างเวลา 7.30 ถึง 11.00 น.หรือ 13.00-14.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และจะต้องเซ็นชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่กงสุลอเมริกัน

3.จ่ายค่าธรรมเนียมดังนี้ พาสปอร์ตของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 16 ปี 82 ดอลลาร์ ,การยื่นขอต่ออายุพาสปอร์ตของผู้ใหญ่ 67 ดอลลาร์,ผู้ยื่นขอพาสปอร์ตครั้งแรกหรือขอพาสปอร์ตเล่มใหม่แทนเล่มเดิมที่สูญหายหรือถูกขโมยต้องจ่าย 97 ดอลลาร์ เงินค่าธรรมเนียจ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ,เงินไทย,บัตรเครดิตหรือเดบิท คาร์ด ก็ได้

4.ใช้เวลาในการทำ 2 สัปดาห์ก่อนที่เจ้าของหรือผู้แทน(ที่ได้รับอนุญาต)จะไปรับได้ที่แผนก

ACS สถานทูตอเมริกัน

การขอพาสปอร์ตให้เด็ก

เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ทั้งสองคน หากคนใดคนหนึ่งไม่ได้ปรากฎตัวในประเทศที่ยื่นขอพาสปอร์ตให้ยื่นแบบฟอร์ม(Form DS 3053)พร้อมกับมีการรับรองเอกสาร(notarized) ด้วย โดยให้พ่อหรือแม่ที่ไปยื่นนำเอกสารนี้ไปยื่นพร้อมแบบฟอร์มของพาสปอร์ตให้ลูก นอกจากนี้เด็กจะต้องมีใบเกิดและสำเนาเพื่อให้ทราบว่าเด็กผู้นั้นมีความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง (guardians)

หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเตรียมภาพถ่ายของเด็กไว้ทุกปี สถานกงสุลอาจจะขอรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ยื่นแบบฟอร์มแก่เด็กด้วยเช่นกัน

เมื่อไปอยู่ต่างประเทศและทำพาสปอร์ตหายหรือถูกขโมย จะต้องปฏิบัติดังนี้

1.ผู้ยื่นขอพาสปอร์ตใหม่แทนเล่มเดิมที่สูญหายต้องแนบใบแจ้งความฉบับจริงจากสถานีตำรวจของไทยด้วย

2.จะต้องกรอกหลักฐานว่ามีการสูญหายหรือถูกขโมย(an Affidavit of Loss or Theft)ซึ่งมีให้ที่แผนก ACS ในสถานทูต

3.จะต้องนำพาสปอร์ตใหม่ที่ออกแทนเล่มเดิมไปประทับตราการเดินทางเข้าประเทศจากเจ้าหน้าที่ของไทย โดยสำนักงาน ACS สามารถให้รายละเอียดได้ว่าไปทำที่ไหนและอย่างไร

พาสปอร์ตแบบฉุกเฉิน(Emergency Passports)

การออกพาสปอร์ตแบบฉุกเฉินให้บริการเป็นกรณีไป มีอายุใช้งานไม่เกิน 1 ปีและสามารถกระทำได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ในกรณีที่มีการประทับตราวีซ่ามากในหนังสือเดินทางจนเนื้อที่หมด เจ้าหน้าที่สามารถเพิ่มเติมหน้ากระดาษให้ได้ในพาสปอร์ตเรียกว่าExtra Visa Pages ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆและรอประมาณ 1 ชั่วโมง

ท่านสามารถเข้าไปศึกษาพาสปอร์ตและดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ http://foia.state.gov/FORMS/passport.asp

วันหมดอายุของพาสปอร์ต พลเมืองอเมริกันมักจะเข้าไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันในประเทศไทยว่าพวกเขาไม่อาจเดินทางไปประเทศที่ 3 หรือออกจากประเทศไทยได้ สาเหตุสำคัญเพราะอายุพาสปอร์ตของพลเมืองอเมริกันเหล่านั้นใช้ได้ไม่ถึง 6 เดือนก็หมดอายุ ดังนั้นพาสปอร์ตจะต้องมีอายุใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือนประเทศต่างๆจึงจะออกวีซ่าให้เข้าประเทศ

เว็บไซท์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย

http://www.immigration.go.th/nov2004/base.php

บทความและรายละเอียดเหล่านี้คงทำให้คนไทยที่แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันแล้ว ได้รับทราบว่ามีระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้าง ในกรณีที่จะเดินทางกลับไปประเทศไทย ไปเที่ยวและไปเกษียณ

(หมายเหตุ- บทความนี้ได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือวันธรรมศาสตร์ 2007 จัดขึ้นที่ Quiet Cannon เมื่อ วันที่ 9 ธันวาคม 2007 ผู้เขียนต้องการนำลงตีพิมพ์อีกเพื่อให้ผู้อ่านที่อยู่ต่างรัฐไม่ได้รับหนัส ืออนุสรณ์ได้อ่านอย่างกว้างขวาง)

Credit: Asian Pacific News

No comments: