เพิ่มมาตรการบีบต่างด้าวในอเมริกา
กลายเป็นประเด็นใหม่ ส่งผลสะเทือนถึงคนต่างด้าวจำนวนมากที่อาศัยอเมริกาเป็นดินแดนทำมาหากิน เมื่อกระทรวงความมั่นคงภายใน หรือ Department of Homeland Security (DHS) ซึ่งดูแลงานอิมมิเกรชั่น หรืองานต่างด้าวโดยนางเจเน็ต นาโปลีตาโน เจ้ากระทรวง ออกโรงแจงกฎหมายใหม่ อนุญาตให้หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น หรือระดับเค้าน์ตี้ หรือระดับรัฐ ที่เข้าร่วมโปรแกรมกับ DHS มีอำนาจจับกุม สอบสวน จับกุม ดำเนินคดีเชื้อสายต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายที่เชื่อมโยงกับคดีอาชญากรรม ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
ทั้งที่เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่ระดับรัฐเหล่านี้ ไม่สามารถที่สาวโยงถึงต้นตอที่มาของต่างด้าวแต่ละคนได้ หรือไม่สามารถเช็คประวัติของต่างด้าวเหล่านี้ได้ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านอิมมิเกรชั่นกลาง ซึ่งหมายถึงกระทรวงความมั่นคงภายในนั่นเอง
หมายถึง หน่วยงานที่มีหน้าเกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างเช่น ตำรวจ ตลอดถึงเจ้าหน้าที่Sheriff ไม่สามารถตั้งคำถาม หรือสอบสวนเกี่ยวกับสถานะหรือที่มาของคนต่างด้าว
เป็นที่รู้กันว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในอเมริกาเวลานี้นั้น ส่วนใหญ่อยู่อย่างผิดกฎหมาย หรือเป็นแรงงานเถื่อน ซึ่งมีอยู่ราวๆ 12 ถึง 13 ล้านคน
รวมทั้งแรงงานไทยส่วนใหญ่ด้วย !
วิกฤติเศรษฐกิจยามนี้ อเมริกันจำนวนมาก นอกเหนือจากมีอาการกลัวถูกแย่งงานจากคนต่างด้าวซึ่งค่าจ้างถูกกว่าแรงงานอเมริกันเองแล้ว ยังหวั่นเกรงคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ประกอบอาชญากรรมประเภทต่างๆ รวมทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด
ประกอบกับแรงงานเถื่อนส่วนใหญ่ที่มาจากทุกสารทิศของโลก ไร้เอกสาร ที่แสดงถึงที่มาที่ไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะแรงงานที่ข้ามพรมแดนมาทางบกแบบเสี่ยงตาย อย่างประเทศเพื่อนบ้านเม็กซิโก และประเทศกลุ่มลาตินทั้งหลาย
นับตั้งแต่รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือแม้กระทั่งรัฐบาลบารัก โอบามาในปัจจุบันเอง ได้มีความพยายามที่จะยกเครื่องกฎหมายอิมมิเกรชั่น เพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเสียใหม่ แต่กฎหมายที่ว่า ก็ไม่เคยผ่านการพิจารณาในสภาทั้งสอง คือ ทั้งสภาบนและสภาล่าง มิหนำซ้ำ ยังมีแรงกดดันจากบรรดาเจ้าของประเทศ ต่อบรรดาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งๆที่รู้กันว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ คือ เฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอเมริกาในตอนนี้
เหมือนอยากให้แรงงานต่างด้าว โดนกดค่าแรงเอาไว้แบบเดิม ในขณะที่กฎหมายใหม่ที่ออกมาเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ กำหนดบทลงโทษต่อนายจ้างอเมริกันที่จ้างแรงงานเถื่อนให้หนักกว่าเดิม เล่นเอากันถึงขนาดปิดกิจการ หรือต้องจ่ายปรับในจำนวนที่สูงมาก
ประเด็นนี้ ส่งผลต่อการจ้างงานในตลาดมืดอเมริกันมาแล้ว แหละแน่นอน ย่อมกระทบถึงแรงงานไทยในอเมริกา ที่ส่วนใหญ่ทำงานร้านอาหารไทย เจ้าของร้านหลายรายไม่กล้าที่จะจ้างแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้อีกต่อไป
แม้กระทรวงความมั่นภายในได้แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การจับกุม สอบสวน และเนรเทศแรงงานต่างด้าว ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จะเน้นเฉพาะกรณีอาชญากรรมร้ายแรง แต่ก็ไม่การันตีว่า การที่กฎหมายอนุญาตให้สาวไปถึงต้นตอที่มาของต่างด้าวแต่ละคนจะเป็นสาเหตุให้ต่างด้าวเถื่อนจำนวนมากถูกจับกุมและโดนเนรเทศออกนอกประเทศมากขึ้นหรือไม่
นอกเหนือจากกฎหมายใหม่นี้ ยังสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลโอบามา และพรรคเดโมแครต ซึ่งเคยประกาศเอาไว้ช่วงก่อนหน้านี้ ในเชิงการประนีประนอมยอมรับแรงงานต่างด้าวเถื่อน หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “โรบินฮู้ด” เข้าสู่ระบบ
นางนาโปลีตาโน บอกว่า การสืบสวน จับกุม กักขังและเนรเทศ ต่างด้าว ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะกระทำในกรณีที่ผู้ต้องหาประกอบอาชญากรรมที่ร้ายแรงเท่านั้น โดยผ่านกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายตามปกติ อย่างเช่น สิทธิในการมีล่าม รวมถึงแนวทางการปฏิบัติแบบไม่แบ่งแยกสีผิว(Nondiscrimination)
กรณีตัวอย่างการปฏิบัติต่อต่างด้าวเถื่อนในระบบใหม่ ดังเช่น เจ้าหน้าที่ 160 คน ของ มาริโคปา เค้าน์ตี้ รัฐอริโซน่า ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ติดกับพรมแดนเม็กซิโก ได้เตรียมการเรื่องที่คุมขัง(คุก) รวมทั้งเทรนเจ้าหน้าที่ของเค้าน์ตี้ให้สามารถปฏิบัติการจับกุม เอาผิดกับแรงงานเถื่อนที่ประกอบคดีอาชญากรรมได้
แม้หัวหน้า Sheriff ของมาริโคปา เค้าน์ตี้ นาย Joe Apaio จะบอกว่า ตามแผนปฏิบัติการนี้ จะเน้นเอาผิดกับผู้ต้องหาคดีร้ายแรง แต่ก็พบว่า ในการปฏิบัติงานได้จับกุมต่างด้าวเถื่อนรวมไปด้วยมากถึง 1,700 คน โดยที่คนเหล่านี้ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมเลย
คนต่างด้าวโดยตรงหรือแม้กระทั่งอเมริกันเชื้อสายต่างด้าว(กรณีเปลี่ยนสัญชาติ) สามารถโดนกักขัง หรือเนรเทศได้ หากประกอบคดีอาชญากรรม ขึ้นกับความรุนแรงของคดี ตามกฎหมายบังคับอิมมิเกรชั่น ฉบับใหม่ ที่เรียกว่า 287(g) Program
เค้าน์ตี้ หรือหน่วยงานท้องถิ่นใด ต้องการเข้าร่วมกับโปรแกรมที่ว่านี้ ต้องเซ็นลงนามกับหน่วยงานปฏิบัติการควบคุมต่างด้าวส่วนกลาง ของกระทรวงความมั่นคงภายใน ก่อนที่จะมีการส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปฝึกอบรมให้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนแบบแผนการปฏิบัติการเพื่อให้สอดรับกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับหน่วยงานกลาง
จนถึงขณะนี้ มี 66 หน่วยงานที่ลงนามเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวไปแล้ว ขณะที่อีก 11 หน่วยงานท้องถิ่นยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติลงนามร่วมกับหน่วยงานอิมมิเกรชั่นกลาง แต่ก็คาดกันว่าเรื่องจะผ่านในไม่ช้า
หลังจากนั้น หน่วยงาน 11 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในหลายๆรัฐ ก็สามารถดำเนินการสืบสวน จับกุมต่างด้าวที่ประกอบคดีอาชญากรรม ส่งสำนักงานอิมมิเกรชั่นกลางเพื่อดำเนินคดีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะนับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เข้มงวดมากขึ้นของระบบงานต่างด้าวในอเมริกา
อีกหลายหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการป้องกันและปราบปราม ก็กำลังจะเข้าร่วมโปรแกรมนี้
แม้ว่าในทุกปี กลุ่มสนับสนุนความเป็นไท และสิทธิของคนต่างด้าวจะได้จัดกิจกรรมประท้วง เรียกร้องต่อทั้งรัฐบาลและสภาก็ตาม
ในส่วนของชุมชนไทยในอเมริกา บางแห่ง บางรัฐ โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนีย ปีที่ผ่านๆมาก็ได้จัดกิจกรรม ร่วมกับกลุ่มคนที่เรียกร้องเหล่านี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเสียงไม่ดังเท่ากลุ่มคนลาติโน ซึ่งเป็นประชากรต่างด้าวกลุ่มใหญ่สุดในอเมริกา
เรื่องของเรื่องก็คือ ขณะที่กำลังมีการเรียกร้องสิทธิของคนต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในอเมริกา ซึ่งรัฐบาลโอบามาประกาศว่า จะสนับสนุนแนวทางดึงแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบ อีกด้านหนึ่งกำลังจะมีการกวาดต้อนจับกุมแรงงานเถื่อนแบบกันอย่างขนานใหญ่ นับแต่นี้ต่อไป
โดยตัวผู้นำประเทศเองก็มีสัญลักษณ์ของความเป็นเชื้อต่างด้าวให้เห็นอยู่ทนโท่…
No comments:
Post a Comment
Please sign our guest book showing your visit and feel free to leave any notes or comments.